top of page
  • รูปภาพนักเขียนdpatikulsila

ต้อกระจก

อัปเดตเมื่อ 5 พ.ย. 2563

ต้อกระจกคืออะไร?

ต้อกระจก คือ ภาวะที่เลนส์ที่อยู่ภายในตาขุ่น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุมาก อุบัติเหตุ หยอดหรือรับประทานยาสเตอรอยด์หรือยาอื่น การอักเสบภายในลูกตา โรคทางกายบางอย่าง(เช่น เบาหวาน) เป็นต้น บางรายอาจเป็นตั้งแต่กำเนิด แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ อายุที่มากขึ้น ส่วนมากมักพบเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป บางรายอาจพบได้เร็วกว่านี้


ต้อกระจกระยะปานกลาง
ต้อกระจกระยะปานกลาง

ต้อกระจก มีอาการอย่างไร?

ต้อกระจกทำให้มีอาการตามัวเป็นฝ้าคล้ายหมอกบัง แรกเริ่มจะมัวเพียงเล็กน้อย และจะมัวเพิ่มขึ้นช้าๆ เป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี แต่อาการตามัวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นถ้ามีอาการตามัวควรรีบไปพบจักษุแพทย์ เพราะอาการตามัวจากโรคตาอาจเกิดจากโรคอื่นที่ไม่ใช่ต้อกระจกและอาจต้องการการรักษาที่รีบด่วน

อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดจากต้อกระจก ได้แก่

  • สายตาสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย

  • ตาพร่ามากขึ้นเวลาอยู่ในที่แสงจ้า

  • เห็นภาพซ้อนในตาข้างใดข้างหนึ่ง(ทดสอบโดยการปิดตาทีละข้าง)

  • เห็นภาพเป็นสีเหลืองๆ

ต้อกระจก พบได้บ่อยหรือไม่?

ต้อกระจกเป็นสาเหตุของตามัวในคนที่อายุเกิน 50 ปี ที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ระยะแรกๆ มักยังไม่มีอาการ ส่วนมากจะแสดงอาการตามัวจนทำให้ต้องไปพบแพทย์ตอนอายุราว 65-75 ปี (บางคนอาจเร็วหรือช้ากว่านี้)


ต้อกระจก รักษาอย่างไร?

ถ้าต้อกระจกเป็นไม่มาก แพทย์มักแนะนำให้พิจารณาเปลี่ยนแว่นตา เพราะต้อกระจกมักทำให้สายตาสั้นมากขึ้น โดยยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ถ้าต้อกระจกเป็นมากขึ้นจนกระทั่งรบกวนการใช้สายตาในชีวิตประจำวันก็สมควรที่จะผ่าตัด เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เป็นภาระต่อลูกหลาน และลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุจากการมองเห็นที่พร่ามัว


ต้อกระจก ทิ้งไว้นานๆ จะเป็นอะไรไหม?

ต้อกระจก(เลนส์ขุ่น)จะพัฒนามากขึ้นช้าๆ ทำให้ตาค่อยๆพร่ามากขึ้น และต้อจะแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การผ่าตัดยากขึ้นเรื่อยๆ และท้ายที่สุดการมองเห็นจะเหลือเพียงเห็นมือโบกไปมาหรือเห็นเพียงแสงไฟเท่านั้น และเกิดต้อหินแทรกซ้อน ทำให้มีอาการปวดตารุนแรงได้


ต้อกระจก ผ่าตัดโดยวิธีอะไร?

การผ่าตัดต้อกระจกมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยการผ่าต้อกระจกออกแล้วใส่เลนส์เทียม ปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดต้อกระจกหลายวิธี ได้แก่


  • การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่ (Extracapsular cataract extraction หรือ ECCE)

    • วิธีนี้จะต้องฉีดยาชามาก ใช้เวลาทำประมาณ 30-45 นาที แผลใหญ่ 7-10 มม.จึงต้องเย็บแผล แผลหายช้า มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าวิธีอื่น และการมองเห็นอาจด้อยกว่าวิธีอื่น

    • ปัจจุบันวิธีนี้ ทำกันน้อยลง แต่ถ้าต้อกระจกที่แข็งมากๆ เนื่องจากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจจะไม่สามารถทำโดยวิธีสลายต้อด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงได้ ก็อาจจะต้องเลือกผ่าตัดวิธีนี้

  • การผ่าตัดต้อกระจกแบบสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification หรือ Phaco) อ่านเพิ่มเติม

    • วิธีนี้ใช้เพียงการหยอดยาชาหรือฉีดยาชาเพียงนิดเดียว ผู้ป่วยส่วนมากแทบไม่รู้สึกว่าเจ็บในระหว่างผ่าตัด

    • ส่วนมากใช้เวลาทำเพียงประมาณ 15-20 นาที

    • แผลเล็ก 2.8-3.0 มม. แผลแข็งแรงกว่าวิธีแรก หายเร็ว พักฟื้นสั้น กลับไปทำงานได้เร็ว

    • วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และเป็นมาตรฐานในการผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน เนื่องจากได้ผลดี แผลหายเร็ว

    • ในรายที่ต้อกระจกที่แข็งมากๆ เนื่องจากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจจะไม่สามารถทำโดยวิธีสลายต้อได้

  • การใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัดต้อกระจก (Femtosecond laser-assisted cataract surgery หรือ FLAC) อ่านเพิ่มเติม

    • วิธีนี้ใช้เลเซอร์ยิงต้อกระจกไว้ก่อน แล้วจึงใช้เครื่องสลายต้อกระจกที่เป็นคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปดูดเอาต้อกระจกที่ถูกตัดไว้แล้วออกมา

    • เลเซอร์จะช่วยเปิดแผลที่ขอบตาดำขนาด 2.8-3.0 มม., เลเซอร์ช่วยตัดถุงหุ้มเลนส์ส่วนหน้าเป็นวงกลมเอาไว้ก่อน และเลเซอร์ยังช่วยตัดเนื้อเลนส์ออกเป็นชิ้นเล็กๆด้วย เลเซอร์จึงช่วยลดพลังงานของเครื่องสลายต้อที่ใช้เข้าไปดูดเลนส์ที่ถูกตัดไว้แล้วออกมา

    • เลเซอร์สามารถตัดเนื้อเยื่อของต้อกระจกได้แม่นยำกว่าการใช้เครื่องสลายต้อกระจกเพียงอย่างเดียว ทำให้ได้ถุงเลนส์ที่มีความสมบูรณ์และสวยงามสำหรับใส่เลนส์เทียม โดยเฉพาะเลนส์เทียมชนิดพิเศษต่างๆ

การตรวจก่อนผ่าตัด

ก่อนผ่าตัดแพทย์จะตรวจตาทั่วไป วัดความดันตา ขยายรูม่านตา ตรวจจอประสาทตา เพื่อให้แน่ใจว่ามีเพียงต้อกระจกเท่านั้น หรือมีโรคอื่นๆของตาร่วมด้วย บางรายอาจต้องอาศัยการตรวจพิเศษอื่นๆด้วย เช่น การตรวจจอประสาทตาด้วยเครื่อง OCT, การตรวจลานสายตา เป็นต้น

การตรวจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การวัดและคำนวณกำลังของเลนส์เทียมที่จะใส่ให้ผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก ในปัจจุบันมักใช้เครื่องเลเซอร์ในการวัดกำลังของเลนส์เทียมเนื่องจากมีความแม่นยำกว่าการวัดด้วยคลื่นเสียง ยกเว้นรายที่ต้อเป็นมากและวัดไม่ได้ด้วยเลเซอร์


การผ่าตัดต้อกระจก มีความเสี่ยงไหม?

การผ่าตัดใดๆ มีความเสี่ยง แต่การผ่าตัดต้อกระจกโดยจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญถือเป็นการผ่าตัดที่มีอัตราของการประสบผลสำเร็จที่สูงมากๆ โอกาสเกิดผลอันไม่พึงประสงค์พบได้น้อยมาก

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ ความดันลูกตาสูง การมีเลือดออกภายในลูกตา การติดเชื้อ การอักเสบมาก เศษเลนส์ตกค้าง ถุงเลนส์ฉีกขาด ทำให้ใส่เลนส์ไม่ได้ หรือใส่เลนส์ไปแล้วแต่เลนส์ตาอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ค่าสายตาคลาดเคลื่อนไปจากที่แพทย์ตั้งใจ ทำให้เหลือสายตาที่ต้องแก้ไขด้วยแว่นหรือบางรายอาจต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อเปลี่ยนเลนส์ใหม่ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ การมีโรคหัวใจกำเริบ ความดันโลหิตสูงจากความวิตกกังวล การแพ้ยา เป็นต้น



ด้วยความปรารถนาดีจาก ดิเรก-ประภัสสร จักษุคลินิก
www.direkclinic.com

ดู 39 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page