ต้อหินคืออะไร?
ต้อหิน เป็นภัยเงียบที่ทำให้เกิดภาวะตาบอดได้บ่อย จัดเป็นสาเหตุของภาวะตาบอดอันดับต้นๆ
ต้อหิน ส่วนมากมักไม่มีอาการ จนกว่าจะเข้าสู่ระยะท้ายๆ จึงจะมีอาการมองเห็นแคบลง ตามัว ซึ่งเป็นระยะที่มีการทำลายเซลล์ประสาทตาไปมากแล้ว ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ช้า ยกเว้นบางรายอาจมีอาการปวดตาหรือเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟได้
ต้อหิน อาจเกิดขึ้นเอง หรือเกิดจากโรคอื่นๆ ของดวงตา เช่น การอักเสบ อุบัติเหตุ การผ่าตัดตา การใช้ยาหยอดตาหรือรับประทานบางชนิด เป็นต้น
ต้อหิน เป็นภาวะที่มีการทำลายเซลล์ประสาทตาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ มักสัมพันธ์กับการมีความดันลูกตาสูง ยกเว้นบางรายที่ความดันลูกตาอาจไม่สูงก็ได้ ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงขั้วประสาทตาน้อยผิดปกติ ทำให้ขั้วประสาทตามีการเปลี่ยนแปลงจากปกติ (รูปที่ 1, รูปซ้าย) ไปเป็นต้อหินที่มีขั้วประสาทตามีแอ่งตรงกลางที่กว้างและลึกจากเส้นใยประสาทตาที่ถูกทำลายจากโรคต้อหิน (รูปที่ 2, รูปกลาง) และมีการสูญเสียการมองเห็นด้านข้าง (รูปที่ 3, รูปขวา)
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดต้อหิน
เนื่องจากต้อหินในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ จะควรมีการตรวจคัดกรองในคนไข้กลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้
อายุมากกว่า 40 ปี แม้ว่าต้อหินจะพบได้ในทุกเพศทุกวัย แม้กระทั่งเด็กแรกคลอด แต่อายุที่เกิน 40 ปี พบต้อหินได้บ่อยกว่าช่วงอายุอื่น
มีประวัติต้อหินในครอบครัว
สายตาสั้นมาก หรือยาวมาก
โรคของหลอดเลือด อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เนื่องจากมีการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทตาน้อยลง
การใช้ยาสเตอรอยด์หยอดตาหรือรับประทาน
เคยมีอุบัติเหตุต่อดวงตา
อาการของโรคต้อหินเรื้อรัง
โรคต้อหินส่วนมากเป็นชนิดเรื้อรัง อาจเป็นต้อหินชนิดมุมเปิดหรือมุมปิดก็ได้ ไม่มีอาการปวดตา (คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าต้อหินต้องปวดตา) ในระยะแรกของโรคต้อหินมักไม่มีอาการผิดปกติเลย ยกเว้นบางคนอาจมีอาการปวดตาเป็นบางครั้งหรือเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ แต่เมื่อโรคดำเนินไปเรื่อยๆ มักใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปีๆ ก็จะมีการทำลายของเซลล์ประสาทตาไปเรื่อยๆ (รูปที่ 2) จนกระทั่งเริ่มมีการสูญเสียการมองเห็นด้านข้างๆ (รูปที่ 3) มักเป็น 2 ตา (แต่ไม่เสมอไป)
อาการต่อไปนี้ควรสงสัยภาวะต้อหิน โดยเฉพาะในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงข้างบน
ตาค่อยๆมัวลงช้าๆ โดยเฉพาะในที่มีแสงน้อย
การมองเห็นด้านข้างแคบลง ควรทดสอบโดยการปิดตาดูทีละข้าง
มองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ
อาการของโรคต้อหินเฉียบพลัน
พบได้น้อยกว่าต้อหินชนิดเรื้อรัง มักเป็นต้อหินชนิดมุมปิด เกิดในรายที่มีโครงสร้างของลูกตาผิดปกติ โดยมีช่องหน้าลูกตาที่ตื้น ทำให้มุมตาแคบ น้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตาระบายออกจากตาไม่สะดวก ทำให้มีความดันตาสูงขึ้นแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตามัวลงมากอย่างรวดเร็ว และเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ เป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบให้การรักษา
การตรวจต้อหิน
จักษุแพทย์จะซักประวัติ อาการและอาการแสดง ประวัติครอบครัว ประวัติการใช้ยา การประสบอุบัติเหตุ และตรวจตา วัดความดันลูกตา ตรวจขั้วประสาทตาและจอตาอย่างละเอียด
การตรวจเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยต้อหิน และติดตามการเปลี่ยนแปลงหลังจากให้การรักษาไปแล้ว ได้แก่ การถ่ายภาพขั้วประสาทตาและจอตา การตรวจลานสายตา การสแกนขั้วประสาทตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (เครื่อง OCT)
การรักษาต้อหิน
ต้อหินส่วนมากมักไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ (ยกเว้นต้อหินบางชนิด) จึงต้องรักษาต่อเนื่องไปตลอด เซลล์ประสาทตาที่ถูกทำลายไปแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาได้ การรักษาจึงเป็นเพียงการควบคุมความดันลูกตาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้มีการทำลายของเซลล์ประสาทตามากขึ้น
วิธีการรักษาต้อหิน มีหลายวิธีดังนี้ (อาจใช้หลายวิธีร่วมกัน)
การรักษาด้วยยาหยอดตา เพื่อลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตาหรือขยายช่องระบายน้ำให้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความดันลูกตาลงได้
คนที่มีต้อหินชนิดมุมปิด การยิงเลเซอร์เจาะรูม่านตาอาจช่วยให้การไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตาระบายออกจากตาได้ดีขึ้น
ในรายที่ควบคุมความดันตาได้ไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เช่น ชอบลืมหยอดยา หรือมีผลข้างเคียงจากยาหยอดตา (เช่น หยอดแล้วเจ็บตา ตาแดง) หรือบ้านอยู่ไกลมาตรวจติดตามผลลำบาก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้เลเซอร์หรือผ่าตัดเพื่อลดความดันลูกตา
การเลือกวิธีการรักษาต้อหิน มีข้อพิจารณาหลายประการ ขึ้นกับระดับความดันตา ระยะและความรุนแรงของโรค และความร่วมมือของผู้ป่วย เป็นต้น
การป้องกันโรคต้อหิน
คนที่มีช่องหน้าลูกตาตื้นและมุมตาแคบ อาจสามารถป้องกันการเกิดต้อหินชนิดมุมปิดบางชนิดได้ ได้โดยการยิงเลเซอร์เจาะรูม่านตาเพื่อให้เกิดช่องทางให้น้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตาไหลเวียนได้สะดวกขึ้น จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดต้อหินชนิดมุมแคบ
โดยสรุปแล้ว
ผู้ป่วยต้อหินส่วนมากเป็นชนิดเรื้อรัง ระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ จนกว่าจะเป็นมากจึงจะมีอาการมองเห็นแคบลง ตามัวลง และตาบอดในที่สุด
คนที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะคนที่ญาติสายตรงเป็นต้อหินควรได้รับการตรวจคัดกรองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สามารถตรวจพบภาวะต้อหินได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
การรักษาต้อหิน มักเริ่มด้วยการหยอดตาลดความดันลูกตา บางรายอาจต้องรักษาด้วยเลเซอร์หรือผ่าตัดร่วมด้วย
การรักษาไม่ได้ทำให้ต้อหินหายขาด แต่ช่วยให้ไม่มีการทำลายเซลล์ประสาทตามากขึ้น และต้องได้รับการตรวจติดตามความดันลูกตาและลานสายตาเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ
ด้วยความปรารถนาดีจาก ดิเรก-ประภัสสร จักษุคลินิก
www.direkclinic.com
Comments