top of page
  • รูปภาพนักเขียนdpatikulsila

ต้อกระจก

อัปเดตเมื่อ 6 พ.ค.

ต้อกระจกคืออะไร?

ต้อกระจก คือ ภาวะที่เลนส์ที่อยู่ภายในตาขุ่น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุมาก อุบัติเหตุ หยอดหรือรับประทานยาสเตอรอยด์หรือยาอื่น การอักเสบภายในลูกตา โรคทางกายบางอย่าง (เช่น เบาหวาน) เป็นต้น บางรายอาจเป็นตั้งแต่กำเนิด แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ อายุที่มากขึ้น ส่วนมากมักพบเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป บางรายอาจพบได้เร็วกว่านี้ จากการสำรวจภาวะตาบอดในประเทศไทย พบว่า ต้อกระจกเป็นสาเหตุของตาบอดอันดับที่ 1


ต้อกระจกระยะปานกลาง
ต้อกระจกระยะปานกลาง

ต้อกระจก มีอาการอย่างไร?

ต้อกระจกทำให้มีอาการตามัวเป็นฝ้าคล้ายหมอกบัง แรกเริ่มจะมัวเพียงเล็กน้อย และจะมัวเพิ่มขึ้นช้าๆ เป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี แต่อาการตามัวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นถ้ามีอาการตามัวควรรีบไปพบจักษุแพทย์ เพราะอาการตามัวจากโรคตาอาจเกิดจากโรคอื่นที่ไม่ใช่ต้อกระจกและอาจต้องการการรักษาที่รีบด่วน

อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดจากต้อกระจก ได้แก่

  • สายตาสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย

  • ตาพร่ามากขึ้นเวลาอยู่ในที่แสงจ้า

  • เห็นภาพซ้อนในตาข้างใดข้างหนึ่ง(ทดสอบโดยการปิดตาทีละข้าง)

  • เห็นภาพเป็นสีเหลืองๆ

ต้อกระจก พบได้บ่อยหรือไม่?

ต้อกระจกที่เกิดจากอายุมากขึ้น พบในคนที่อายุเกิน 50 ปี พบได้บ่อยที่สุด แต่ระยะแรกๆ มักยังไม่มีอาการ ส่วนมากจะแสดงอาการตามัวจนทำให้ต้องไปพบแพทย์ตอนอายุราว 65-75 ปี (บางคนอาจเร็วหรือช้ากว่านี้)


ต้อกระจก รักษาอย่างไร?

ถ้าต้อกระจกเป็นไม่มาก แพทย์มักแนะนำให้พิจารณาเปลี่ยนแว่นตา เพราะต้อกระจกมักทำให้สายตาสั้นมากขึ้น โดยยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ถ้าต้อกระจกเป็นมากขึ้นจนกระทั่งรบกวนการใช้สายตาในชีวิตประจำวันก็สมควรที่จะผ่าตัด เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เป็นภาระต่อลูกหลาน และลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุจากการมองเห็นที่พร่ามัว


ต้อกระจก ทิ้งไว้นานๆ จะเป็นอะไรไหม?

ต้อกระจก(เลนส์ขุ่น)จะพัฒนามากขึ้นช้าๆ ทำให้ตาค่อยๆพร่ามากขึ้น และต้อจะแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การผ่าตัดยากขึ้นเรื่อยๆ และท้ายที่สุดการมองเห็นจะเหลือเพียงเห็นมือโบกไปมาหรือเห็นเพียงแสงไฟเท่านั้น และเกิดต้อหินแทรกซ้อน ทำให้มีอาการปวดตารุนแรงได้


ต้อกระจก ผ่าตัดโดยวิธีอะไร?

การผ่าตัดต้อกระจกมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยการผ่าต้อกระจกออกแล้วใส่เลนส์เทียม ปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดต้อกระจกหลายวิธี ได้แก่


  • การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่ (Extracapsular cataract extraction หรือ ECCE)

    • วิธีนี้จะต้องฉีดยาชามาก ใช้เวลาทำประมาณ 30-45 นาที แผลใหญ่ 7-10 มม.จึงต้องเย็บแผล แผลหายช้า มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าวิธีอื่น และการมองเห็นอาจด้อยกว่าวิธีอื่น

    • ปัจจุบันวิธีนี้ ทำกันน้อยลง แต่ถ้าต้อกระจกที่แข็งมากๆ เนื่องจากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจจะไม่สามารถทำโดยวิธีสลายต้อด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงได้ ก็อาจจะต้องเลือกผ่าตัดวิธีนี้

  • การผ่าตัดต้อกระจกแบบสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification หรือ Phaco)

    • วิธีนี้ใช้เพียงการหยอดยาชาหรือฉีดยาชาเพียงนิดเดียว ผู้ป่วยส่วนมากแทบไม่รู้สึกว่าเจ็บในระหว่างผ่าตัด

    • ส่วนมากใช้เวลาทำเพียงประมาณ 15-20 นาที

    • แผลเล็ก 2.8-3.0 มม. แผลแข็งแรงกว่าวิธีแรก หายเร็ว พักฟื้นสั้น กลับไปทำงานได้เร็ว

    • วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และเป็นมาตรฐานในการผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน เนื่องจากได้ผลดี แผลหายเร็ว

    • ในรายที่ต้อกระจกที่แข็งมากๆ เนื่องจากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจจะไม่สามารถทำโดยวิธีสลายต้อได้


การตรวจก่อนผ่าตัด

ก่อนผ่าตัดแพทย์จะตรวจตาทั่วไป วัดความดันตา ขยายรูม่านตา ตรวจจอประสาทตา เพื่อให้แน่ใจว่ามีเพียงต้อกระจกเท่านั้น หรือมีโรคอื่นๆของตาร่วมด้วย บางรายอาจต้องอาศัยการตรวจพิเศษอื่นๆด้วย เช่น การตรวจจอประสาทตาด้วยเครื่อง OCT, การตรวจลานสายตา เป็นต้น

การตรวจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การวัดและคำนวณกำลังของเลนส์เทียมที่จะใส่ให้ผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก ในปัจจุบันมักใช้เครื่องเลเซอร์ในการวัดกำลังของเลนส์เทียมเนื่องจากมีความแม่นยำกว่าการวัดด้วยคลื่นเสียง ยกเว้นรายที่ต้อเป็นมากและวัดไม่ได้ด้วยเลเซอร์


การผ่าตัดต้อกระจก มีความเสี่ยงไหม?

การผ่าตัดใดๆ มีความเสี่ยง แต่การผ่าตัดต้อกระจกเป็นการผ่าตัดที่มีอัตราของการประสบผลสำเร็จที่สูงมากๆ โอกาสเกิดผลอันไม่พึงประสงค์พบได้น้อยมาก

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ ความดันลูกตาสูง การมีเลือดออกภายในลูกตา การติดเชื้อ การอักเสบมาก เศษเลนส์ตกค้าง ถุงเลนส์ฉีกขาด ทำให้ใส่เลนส์ไม่ได้ หรือใส่เลนส์ไปแล้วแต่เลนส์ตาอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ค่าสายตาคลาดเคลื่อนไปจากที่แพทย์ตั้งใจ ทำให้เหลือสายตาที่ต้องแก้ไขด้วยแว่นหรือบางรายอาจต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อเปลี่ยนเลนส์ใหม่ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ การมีโรคหัวใจกำเริบ ความดันโลหิตสูงจากความวิตกกังวล การแพ้ยา เป็นต้น



ด้วยความปรารถนาดีจาก ดิเรก-ประภัสสร จักษุคลินิก
www.direkclinic.com

ดู 123 ครั้ง0 ความคิดเห็น

ความคิดเห็น


ปิดการแสดงความคิดเห็น
bottom of page