เป้าหมายของการผ่าตัดในปัจจุบัน จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ
เอาต้อกระจกที่ขุ่นออก เพื่อให้แสงผ่านเข้าสู่ตาได้
แก้ไขสายตาสั้น/ยาว/เอียงที่มีอยู่เดิม
เลือกใช้เลนส์เทียมที่เหมาะสมกับการใช้สายตายตาในชีวิตประจำวัน โดยคำนึงถึงคุณภาพของการมองเห็นและค่าใช้จ่าย
ปัจจุบัน ยังไม่มีเลนส์เทียมที่สมบูรณ์แบบ 100% เลนส์เทียมแต่ละชนิดมีข้อดีและข้อด้อย บทความนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น แต่รายละเอียดควรต้องปรึกษาจากแพทย์ผู้ผ่าตัดอีกครั้ง
เลนส์เทียมสำหรับใส่เวลาผ่าตัดต้อกระจก มีกี่ชนิด?
เลนส์เทียมแบ่งตามลักษณะของจุดโฟกัสเป็น 3 ชนิด อย่างไรก็ตาม เลนส์เทียมแต่ละชนิดยังมีทั้งแบบที่ไม่แก้ไขสายตาเอียง กับชนิดที่แก้ไขสายตาเอียงด้วย ดังนั้นโดยรวมจึงมี 6 ชนิด ดังนี้
เลนส์เทียมชนิดที่มีโฟกัสเดียว (Monofocal lens)
แบบไม่แก้ไขสายตาเอียง สำหรับคนที่ไม่มีสายตาเอียงน้อยหรือมีน้อย
แบบแก้ไขสายตาเอียง สำหรับคนที่มีสายตาเอียงมาก
เลนส์เทียมชนิดที่มีโฟกัสเดียวแบบโฟกัสยืดยาว (Extended depth of focus lens)
แบบไม่แก้ไขสายตาเอียง สำหรับคนที่ไม่มีสายตาเอียงน้อยหรือมีน้อย
แบบแก้ไขสายตาเอียง สำหรับคนที่มีสายตาเอียงมาก
เลนส์เทียมชนิดที่มีมากกว่า 1 จุดโฟกัส ทำให้ดูได้ทั้งไกลและใกล้ (Multifocal lens)
แบบไม่แก้ไขสายตาเอียง สำหรับคนที่ไม่มีสายตาเอียงน้อยหรือมีน้อย
แบบแก้ไขสายตาเอียง สำหรับคนที่มีสายตาเอียงมาก
เลนส์เทียมแบบชนิดโฟกัสเดียว (Monofocal lens)
เป็นเลนส์เทียมชนิดมาตรฐานที่นิยมใช้กันทั่วไป เป็นเลนส์ที่มีจุดโฟกัสเพียงจุดเดียว (รูปที่ 1) ส่วนมากแล้วแพทย์จะเลือกค่ากำลังของเลนส์เทียมให้จุดโฟกัสไปตกที่จอประสาทตา เลนส์ชนิดนี้จึงดูไกลได้ชัด แต่เวลามองระยะกลางและระยะใกล้ด้วยตาเปล่าจะเห็นไม่ชัด จึงยังคงต้องใส่แว่นตาเพื่อช่วยในการมองเห็นในระยะกลางและระยะใกล้
แต่ในบางครั้ง ถ้าหลังผ่าตัดมีสายตาเหลืออยู่มาก ก็อาจทำให้ระยะไกลไม่ชัดก็ได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยมีสายตาเอียงก็จะไม่ชัดทั้งไกลและใกล้ แต่ถ้าใส่แว่นตาก็จะเห็นชัดดี อย่างไรก็ตามเลนส์เทียมชนิดนี้มีแบบที่แก้ไขสายตาเอียงให้เลือกใช้ด้วย หมายความว่า ถ้าผู้ป่วยมีสายตาเอียงและได้รับการใส่เลนส์เทียมชนิดโฟกัสเดียวและแก้ไขสายตาเอียง ก็จะทำให้ดูไกลชัด แต่ดูใกล้จะยังไม่ชัดและต้องใส่แว่นตาเวลาอ่านหนังสือ
รูปที่ 1 แสดงเลนส์ที่มีจุดโฟกัสเพียงจุดเดียว จึงช่วยให้มองเห็นได้ดีในระยะไกล ดูระยะกลางและระยะใกล้ต้องใส่แว่น
เลนส์เทียมชนิดที่มีโฟกัสเดียวแบบโฟกัสยืดยาว (Extended depth of focus lens)
เป็นการออกแบบเลนส์ให้มีจุดโฟกัสระยะไกลที่ยืดยาวออก (รูปที่ 2) ซึ่งจะช่วยให้ระยะการมองเห็นมีการยืดยาวออกเช่นกัน ดังนั้นจึงสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ระยะไกลมาจนถึงระยะกลาง (1-2 เมตร) ส่วนระยะใกล้จะมองเห็นไม่ชัด จึงต้องใส่แว่นอ่านหนังสือ
รูปที่ 2 แสดงเลนส์ที่มีจุดโฟกัสระยะไกลที่ยืดยาวออก จึงช่วยให้มองเห็นได้ดีในระยะไกลและกลาง ดูระยะใกล้ต้องใส่แว่น
เลนส์เทียมชนิดหลายโฟกัส (Multifocal lens)
การที่เลนส์ชนิดนี้มีหลายโฟกัส ทำให้สามารถใช้งานได้หลายๆ ระยะ ปัจจุบันเลนส์เทียมชนิดนี้มีให้เลือกหลายแบบ เช่น
แบบ 2 โฟกัส คือ ดูระยะไกลและดูระยะใกล้ (bifocal) (รูปที่ 3) ระยะกลางก็จะไม่ค่อยชัด
แบบ 2 โฟกัส คือ ดูระยะไกล และดูระยะกลาง (bifocal) (รูปที่ 4) ระยะใกล้ก็จะไม่ค่อยชัด
แบบ 3 โฟกัส คือ ดูระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้ (trifocal) (รูปที่ 5) สามารถใช้งานได้ทั้งระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้
รูปที่ 3 แสดงเลนส์ที่มีจุดโฟกัส 2 จุด คือ ระยะไกลและระยะใกล้ จึงช่วยให้มองเห็นได้ดีในระยะไกลและใกล้
รูปที่ 4 แสดงเลนส์ที่มีจุดโฟกัส 2 จุด คือ ระยะไกลและระยะกลาง จึงช่วยให้มองเห็นได้ดีในระยะไกลและกลาง ดูระยะใกล้ต้องใส่แว่น
รูปที่ 5 แสดงเลนส์ที่มีจุดโฟกัส 3 จุด คือ ระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้ จึงช่วยให้มองเห็นได้ดีในทุกระยะ ทำให้โอกาสต้องใส่แว่นตาหลังผ่าตัดมีน้อย (ราวร้อยละ 10 ของคนที่ใส่เลนส์ชนิดนี้ อาจจะยังคงต้องใส่แว่นตาบ้าง โดยเฉพาะคนที่ใช้สายตาดูตัวอักษรขนาดเล็ก ใช้สายตาในที่ที่แสงน้อย หรือเป็นคนที่ชอบความคมชัดมากๆ)
อ่านดูแล้วเลนส์เทียมหลายระยะน่าจะดี แต่อยากทราบว่ามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง?
ข้อดีคือ สามารถมองเห็นได้ทั้งระยะไกล และระยะกลางหรือใกล้ ขึ้นกับชนิดของเลนส์ จึงช่วยลดการพึ่งพาแว่นตาไปได้มาก แต่ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ต้องใส่แว่นตาเลย
ข้อเสีย ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ไม่มีเลนส์เทียมที่สมบูรณ์แบบทุกด้าน เลนส์เทียมหลายระยะมักมีโครงสร้างของเลนส์เป็นแบบ diffractive design (ผิวเลนส์ไม่เรียบ มีลักษณะคล้ายขั้นบันได เรียงตัวเป็นวงๆ) ทำให้เห็นภาพที่มี contrast ลดลงกว่าเลนส์แบบ monofocal และเวลาขับรถกลางคืนอาจเห็นแสงไฟหน้ารถที่สวนมาเป็นวงวาวๆรอบไฟหน้ารถ (รูปที่ 6) โดยเฉพาะในระยะแรกๆหลังผ่าตัด แต่เมื่อเวลาผ่านไฟสมองมักมีการปรับตัวทำให้เห็นลักษณะดังกล่าวน้อยลง
เลนส์เทียมหลายระยะแบบ diffractive รุ่นใหม่ๆ ได้รับการออกแบบมาให้ช่วยลดปัญหาเรื่อง contrast ที่ลดลงและการมีแสงเป็นวงรอบไฟหน้ารถ ทำให้เลนส์หลายระยะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อเสียที่สำคัญอีกประการที่สำคัญคือ เลนส์เทียมหลายระยะมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเลนส์เทียมชนิดโฟกัสเดียวที่ใช้กับทั่วไป
รูปที่ 6 แสดงลักษณะการเห็นไฟหน้ารถที่สวนมายามค่ำคืน มีการแตกกระจายหรือเห็นเป็นวงๆ ในรายที่ใส่เลนส์เทียมแบบหลายโฟกัส
ปัจจุบันเริ่มมีการผลิตเลนส์เทียมหลายระยะแบบ refractive design (ผิวเลนส์ค่อนข้างเรียบ ผู้ผลิตอาศัยการเปลี่ยนแปลงความโค้งของผิวเลนส์เพื่อทำให้เกิดกำลังของเลนส์เลนส์ที่เปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการ) มาให้เป็นทางเลือก ซึ่งช่วยให้ contrast ของภาพดีขึ้นและไม่ค่อยมีการเห็นแสงไฟหน้ารถเป็นวงวาวๆ
ดังนั้น แม้ว่าเลนส์เทียมหลายระยะจะช่วยให้มองเห็นได้หลายระยะ แต่ก็ต้องแลกด้วยการที่เห็นภาพที่มี contrast ที่น้อยลงไปบ้างและอาจมีอาการเห็นแสงไฟหน้ารถยามค่ำคืนเป็นวงๆได้บ้าง
อย่างไรก็ตามคนเป็นต้อกระจกก็มักเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการมองใกล้ไม่ชัดและต้องใช้แว่นตาเวลาอ่านหนังสือตั้งแต่ก่อนจะเป็นต้อกระจก และเมื่อเป็นต้อกระจกก็อาจมัวไปหมดทุกระยะ อีกทั้งเห็นแสงไฟหน้ารถกระจายมากอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนผ่าตัด เมื่อได้รับการผ่าตัดและใส่เลนส์หลายระยะไปแล้ว หลังผ่าตัดสามารถดูได้ชัดทั้งไกลและใกล้แม้จะมีอาการเห็นแสงไฟหน้ารถเป็นวงๆบ้าง ผู้ป่วยส่วนมากก็มักพึงพอใจและปรับตัวได้และเคยชินในระยะเวลาไม่นานหลังการผ่าตัด
ปัจจุบันเลนส์เทียมหลายระยะรุ่นใหม่มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้น้อยลงไปเรื่อยๆ
แล้วควรจะใส่เลนส์ชนิดไหนดี?
อยากบอกอีกครั้งก่อนจบ คือ ไม่มีเลนส์เทียมใดๆที่สมบูรณ์แบบ
คนที่ควรใส่เลนส์เทียมแบบโฟกัสเดียว ได้แก่
ถ้ากำลังทรัพย์น้อย ไม่ต้องคิดมาก ควรเลือกเลนส์เทียมชนิดโฟกัสเดียว เนื่องจากราคาถูกสุด ให้ภาพที่คมชัดดี แต่ต้องใส่แว่นช่วย
ถ้าเป็นคนเจ้าระเบียบเป๊ะทุกอย่าง(perfectionist) ควรเลือกเลนส์เทียมชนิดโฟกัสเดียว เนื่องจากให้ภาพที่คมชัดที่สุด แม้ว่าจะต้องยอมใส่แว่นบ้าง
คนที่มีโรคของตาชนิดต่างๆนอกเหนือจากต้อกระจก เนื่องจากโรคตาเหล่านี้มักทำให้ไม่ค่อยได้ประโยชน์(และอาจเป็นผลเสีย)ถ้าใส่เลนส์เทียมชนิดหลายโฟกัส
คนที่ควรใส่เลนส์เทียมแบบหลายโฟกัส รวมถึงเลนส์เทียมชนิด EDOF ได้แก่
คนที่มีแรงจูงใจสูงที่จะไม่อยากใส่แว่นตาหลังผ่าตัด หรือใส่แว่นตาให้น้อยเท่าที่จำเป็น
เป็นคนที่เข้าใจและยอมรับข้อด้อยบางอย่างของเลนส์เทียมชนิดหลายระยะหรือเลนส์ EDOF ได้
เป็นคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
บางครั้งแพทย์อาจใส่เลนส์ 2 ตาไม่เหมือนกันก็ได้
บางครั้งแพทย์อาจเลือกใส่เลนส์ 2 ตาแตกต่างกัน เพื่อให้สามารถดูได้หลายระยะและลดการพึ่งพาแว่นตา เช่น ใส่เลนส์ชนิดระยะไกลและระยะใกล้ตานึงและอีกตาใส่เลนส์ที่เน้นระยะไกลและระยะกลาง หรือใส่เลนส์ชนิด 3 โฟกัสตานึงและอีกตาใส่แบบ EDOF lens เป็นต้น
ค่าสายตาที่หลงเหลืออยู่หลังผ่าตัด
ก่อนจบขออธิบายให้เข้าใจอีกเรื่องที่สำคัญมากคือ ค่าสายตาที่หลงเหลืออยู่หลังผ่าตัดมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของเลนส์เทียม เพราะจะทำให้จุดโฟกัสของเลนส์ไม่เป็นไปตามที่อธิบายไว้ข้างบน ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ได้รับการใส่เลนส์เทียมชนิด 3 โฟกัสที่ดูได้ทั้งระยะไกล กลางและใกล้ แล้วคาดว่าจะดูทุกระยะ แต่หลังผ่าตัดเหลือสายตาสั้น -0.50 ไดออฟเตอร์ (หรือภาษาชาวบ้านคือ สายตาสั้น 50) ก็จะกลายเป็นดูไกลไม่ชัด แต่ดูระยะกลางหรือระยะใกล้ดี ก็อาจต้องใส่แว่นตาเพื่อแก้ไขสายตาสั้นจึงจะดูไกลชัด
ถ้ามีค่าสายตาเหลืออยู่ วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือการใส่แว่นตา แต่ถ้าจะผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเลนส์เทียมหรือจะทำเลสิคเพื่อแก้ไขสายตาที่หลงเหลืออยู่ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ความคาดหวัง
การจ่ายเงินที่แพงเพื่อใส่เลนส์พิเศษเหล่านี้ ย่อมนำมาซึ่งความคาดหวังต่อผลการรักษา ดังนั้นถ้าผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่คาดก็ย่อมเกิดความผิดหวังเป็นธรรมดา ความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเลนส์เทียมชนิดต่างๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่คาดหวังเกินกว่าประสิทธิภาพของเลนส์เทียมที่เลือกใช้ และนำมาซึ่งความสุขของผู้ป่วย และแน่นอนของแพทย์ผู้ผ่าตัดด้วย
โดยสรุปแล้ว ในปัจจุบันมีเลนส์เทียมให้เลือกหลายชนิด ไม่มีเลนส์เทียมที่ดีและสมบูรณ์แบบเหมือนเลนส์ธรรมชาติตอนเราอายุน้อยกว่า 40 ปี ดังนั้นการจะเลือกเลนส์ชนิดใดจึงต้องไตร่ตรองให้ดี เพื่อให้ได้ผลการผ่าตัดที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด โดยพิจารณาจากลักษณะการใช้สายตา กิจวัตรประจำวันที่ใช้งาน การมีสายตาเอียงร่วมด้วยหรือไม่ ความคาดหวัง ความต้องการเป็นอิสระจากแว่นตา การขับรถตอนกลางคืน และค่าใช้จ่าย
ด้วยความปรารถนาดีจาก ดิเรก-ประภัสสร จักษุคลินิก
www.direkclinic.com
Comments