การบาดเจ็บทางตา (Eye trauma)

เขียนโดย รศ.นพ.ดิเรก ผาติกุลศิลา


การบาดเจ็บของดวงตาจากอุบัติเหตุ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ดังนี้

  • การบาดเจ็บจากการทำงาน
  • การบาดเจ็บจากการขับขี่ยานพาหนะ
  • การบาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาท
  • การบาดเจ็บจากแรงระเบิด
  • การบาดเจ็บจากสารเคมีเข้าตา
การแบ่งชนิดของการบาดเจ็บทางตา

แบ่งออกได้เป็น

  1. ผนังลูกตาไม่ฉีกขาดหรือฉีกขาดแต่ไม่ทะลุ (closed globe injury) เช่น มีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา, ม่านตาฉีกขา, เลนส์เคลื่อน เป็นต้น
  2. ผนังลูกตาฉีกขาดเป็นแผลเปิดทะลุ (open globe injury) เช่น กระจกตาฉีกขาด หรือตาขาวฉีกขาด เป็นต้น
อาการ

หลังจากได้รับอุบัติเหตุ มีอาการตามัว เจ็บตา บางรายอาจมีเลือดออก

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บต่อดวงตา

ในการเป็นจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านจอประสาทตา ได้มีโอกาสดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บต่อดวงตามาจำนวนมาก ส่วนมากเกิดจากการทำงานที่ไม่สวมใส่แว่นตาป้องกัน

รูปที่ 1 และ 2 แสดงตัวอย่างของการบาดเจ็บต่อดวงตาที่พบได้

corneal foreign body

รูปที่ 1 เศษเหล็กติดอยู่ที่ผิวของกระจกตา จากการเจียรเหล็ก

penetrating eye injury by nail

รูปที่ 2 ตาที่ถูกตะปูเสียบอยู่ เกิดจากตะปูที่ยิงด้วยปืนลม
ระหว่างงานทำเฟอร์นิเจอร์

การบาดเจ็บต่อดวงตาอาจทำให้เกิดอะไรบ้าง?

การถูกกระทบกระแทกด้วยของไม่มีคม อาจทำให้เกิดเลือดออกภายในตา หรืออาจมีการชอกช้ำหรือการฉีกขาดของเนื้อเยื่อภายในลูกตาได้ อาทิเช่น จอประสาทตาช้ำ จอประสาทตาฉีกขาด จอประสาทตาลอก เลือดออกในวุ้นตา เลือดออกใต้จอตา เลนส์ตาเคลื่อน ต้อหินแทรกซ้อน เป็นต้น

การถูกของมีคมทิ่มแทงลูกตา ทำให้ผนังลูกตาฉีกขาด อาจมีเลนส์ตาฉีกขาด จอประสาทตาฉีกขาด จอประสาทตาลอก อาจมีสิ่งแปลกปลอมตกค้างอยู่ภายในลูกตาได้ และอาจมีเชื้อโรคจากภายนอกลูกตาเข้าไปภายในลูกตาและเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้

การปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อได้รับการบาดเจ็บต่อดวงตา

หลังจากอุบัติเหตุ ถ้ามีอาการต่อไปนี้อาจมีผนังลูกตาฉีกขาด จึงควรรีบไปพบจักษุแพทย์ และไม่ควรจะขยี้ตา ไม่ควรใช้น้ำล้างตา ห้ามเขี่ยหรือดึงสิ่งแปลกปลอมออกจากตา

  • ตามัวลง
  • เจ็บตา
  • มีเลือดออกที่ตาขาว
  • ตาดำผิดรูปร่าง
  • สงสัยมีสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ในตา

ยกเว้น กรณีที่ถูกสารเคมีเข้าตา ควรรีบล้างด้วยน้ำสะอาดจำนวนมากๆ แล้วรีบไปพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด

การรักษา

กรณีที่เกิดจากการถูกกระทบกระแทกด้วยของไม่มีคม การรักษาขึ้นกับชนิด และลักษณะของบาดแผล

  • ถ้ามีเพียงการชอกช้ำ อาจรักษาด้วยยาหยอดตาเพื่อรักษาการอักเสบ หรือยาลดความดันตาในรายที่มีความดันตาสูงแทรกซ้อน
  • ในรายที่มีการฉีกขาดของจอตาอาจรักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์รอยรอยฉีดขาดเพื่อป้องกันจอประสาทตาหลุดลอก เป็นต้น
  • ถ้ามีการฉีกขาดของผนังลูกตา จะต้องได้รับการผ่าตัดเย็บซ่อม

กรณีที่เกิดจากการถูกของมีคมทิ่มแทงลูกตา การรักษามักต้องทำหลายขั้นตอน ในเบื้องต้นเริ่มจากการเย็บซ่อมผนังลูกตาที่ฉีกขาด จากนั้นจะต้องมีการตรวจประเมินเพิ่มเติมว่ามีอวัยวะใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ มีสิ่งแปลกปลอมตกค้างหรือไม่ มีการติดเชื้อภายในลูกตาหรือไม่ หลังจากนั้นจึงพิจารณาผ่าตัดเพิ่มเติมตามความผิดปกติที่ตรวจพบ ในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยอาจต้องมีการผ่าตัดหลายครั้ง

การพยากรณ์โรค

ขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บ โดยทั่วไปถ้าการมองเห็นเริ่มต้นดี โอกาสมีการมองเห็นที่ดีหลังการรักษาก็มีมากขึ้น ถ้าการมองมองเห็นเริ่มต้นไม่ดี การพยากรณ์โรคก็มักไม่ดี

การพยากรณ์จะไม่ดี พบในกรณีที่ของมีคมทิ่มแทงถูกบริเวณส่วนกลางของจอตา การมีจอตาหลุดลอกรุนแรง และการติดเชื้อภายในลูกตาที่รุนแรง

การป้องกัน
  • ในการทำงานใดๆ ก็ตามที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางตา ควรใส่แว่นตาป้องกันเสมอ เช่น ตัดหญ้า ตอกตะปู เชื่อมเหล็ก เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ในที่ที่มีการก่อสร้าง เป็นต้น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมแว่นตาป้องกันอุบัติเหตุ
  • ไม่ขับรถขณะมึนเมา
  • ไม่ทะเลาะวิวาทกัน
โดยสรุปแล้ว
  • การบาดเจ็บต่อดวงตา ส่วนมากสามารถป้องกันได้ ถ้าไม่ประมาท และสวมใว่แว่นตาป้องกัน แว่นตาที่ใส่ควรเป็นวัสดุที่ทนทานต่อแรงกระทบกระแทก เช่น โพลีคาร์บอเนท
  • ถ้าเกิดการบาดเจ็บต่อดวงตา ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
  • การรักษาที่ถูกต้อง ทันเวลา อาจช่วยกอบกู้การมองเห็นให้กลับคืนมาได้ แม้จะไม่ดีเท่าเดิม
  • การพยากรณ์โรค ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของการบาดเจ็บ

ด้วยความปรารถนาดีจาก ดิเรก-ประภัสสร จักษุคลินิก
www.direkclinic.com